หลังจากยุคของ กิเฮย์ ฮามากุจิ รุ่นบุกเบิกตามมาด้วย เคียวเรียว (Kyoryo) ทายาท รุ่นที่ 2, โนริฮิโระ (Norihiro) ทายาทรุ่นที่ 3, ยาสึโรกุ (Yasuroku) ทายาทรุ่นที่ 4, คันโป (Kanpo) ทายาทรุ่นที่ 5, ยาสึฮิระ (Yasuhira) ทายาทรุ่นที่ 6 และต่อด้วยโกเรียว (Goryo) หลานชายของคันโป (Kanpo) ทายาทรุ่นที่ 5 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น กิเฮย์ ฮามากุชิ รุ่นที่ 7 ในปี พ.ศ.2396 เป็นเวลาเกือบสองศตวรรษนับจากก่อตั้งบริษัท โกเรียวเกิดเมื่อปี พ.ศ.2363 และได้รับมรดกของตระกูลในปีค.ศ. 1853 ได้ทำการปกป้องธุรกิจของครอบครัวท่ามกลางความวุ่นวายระหว่างปลายรัชสมัยการปกครองของโชกุนโทคุกาวะ (Tokugawa Shogunate) นอกจากเขาจะทำกิจกรรมในฐานะที่เป็นนักธุรกิจที่มีความสามารถและเป็นผู้นำของซีอิ๊วถั่วเหลืองยามาซ่ารุ่นที่ 7แล้ว เขายังได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับกิจกรรมการกุศลเพื่อช่วยเหลือสังคมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนและกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งมีส่วนในการพัฒนาญี่ปุ่นสมัยใหม่เป็นอย่างมาก
ในช่วงที่มีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่นันไก (Nankai) ถึงสองครั้งติดต่อกันเมื่อวันที่ 4 และ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2397 โกเรียวเดินทางกลับไปยังฮิโระมุระ เมืองคิชู (ปัจจุบันคือ ฮิรากาวะโช – Hirakawa-cho) และพยากรณ์ว่าจะเกิดสึนามิครั้งใหญ่ขึ้นจากการสังเกตน้ำทะเลที่ลดลงไปอย่างมากจนผิดปกติรวมถึงการลดระดับอย่างรวดเร็วของบ่อน้ำ ร่วมกับการสังเกตจากปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งมีการบันทึกไว้ว่า โกเรียวได้อพยพชาวบ้าน โดยการจุดไฟเผากองฟ่อนข้าว (Inamura) ซึ่งตั้งอยู่บนที่นาของเขาเองเพื่อเตือนให้ชาวบ้านรู้ว่ามีเหตุฉุกเฉิน การกระทำที่เสียสละและเห็นแก่ส่วนรวมโดยไม่ห่วงทรัพย์สินหรือความปลอดภัยของตนเองนี้ ทำให้ลาฟคาดิโอ เฮิร์น (Lafcadio Hearn) ผู้เป็นที่รู้จักในนาม โคอิซึมิ ยาคุโมะ (Koizumi Yakumo) นักประพันธ์เลื่องชื่อของสมัยเมจิ ได้กล่าวถึงโกเรียวว่าเป็นเทพเจ้าที่ยังมีชีวิต ในหนังสือรวมเรื่องสั้นของเขาคือ “Gleaning in Buddha Fields” ภายหลังจากนั้น เรื่องราวของเหตุการณ์ “ไฟแห่งอินามุระ” ซึ่งครูประถมชาวญี่ปุ่นชื่อ ทสึเนโซ นาคาอิ (Tsunezo Nakai) เขียนดัดแปลงจากหนังสือของ Hearn ก็ได้บรรจุลงเป็นหนังสือเรียนในชั้นเรียนภาษาญี่ปุ่นของเด็กประถมอีกด้วย
กำแพงกันคลื่นที่ยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน
โกเรียวไม่ได้หยุดอยู่แค่การช่วยชีวิตชาวบ้านเท่านั้น เขายังช่วยป้องกันการละทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชาวบ้านด้วยการสร้างบ้านพัก เก็บรวบรวมเครื่องมือทางการเกษตรและอุปกรณ์ประมง และรวมทั้งกิจกรรมอีกมากมายเพื่อช่วยเหลือชาวหมู่บ้าน ฮิโรมุระที่สิ้นเนื้อประดาตัวจากสึนามิ อีกทั้งยังสร้างกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันสึนามิที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งเป็นโครงการใหญ่และใช้เวลาก่อสร้างถึง 4 ปี จากปี พ.ศ.2398 เสียค่าใช้จ่ายไปประมาณ 94 เหรียญเงิน (kan) นับเป็นน้ำหนักเงินประมาณ 3.4 กิโลกรัม) กำแพงกันคลื่นนี้ ยาว 600 เมตร สูง 5 เมตร ใช้ต้นสนเป็นแนวรับคลื่นด้านทะเลและใช้ต้นฮิโนกิปลูกตกแต่งทางฝั่งแผ่นดินเพื่อความสวยงามทางทัศนียภาพซึ่งยังคงอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแนวกำแพงกันคลื่นนี้ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกด้วย
โกเรียว มีความสนิทสนมกับ กอนไซ มิยาเกะ (Gonsai Miyake) หมอแผนตะวันตก ซึ่งเปิดทำการรักษาที่โชชิ ในช่วงปลายของการปกครองของโชกุนโทคุกาวา และตัวเขาเองก็มีความสนใจในแผนการรักษาแบบตะวันตกเช่นกัน จึงได้ร่วมกันเปิด Keikojo หรือห้องฝึกฝนขึ้นมาในปี พ.ศ.2395 เคอิโคโจหรือห้องฝึกฝนนี้ใช้สำหรับฝึกอบรมเยาวชนให้รู้จักกับความศิวิไลซ์ของโลกตะวันตก และภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันไทคิว จำกัด (Taikyu Co., Taikyu Academy) และโรงเรียนมัธยมต้นไทคิว (Taikyu Junior High School) และปัจจุบันได้กลายมาเป็นโรงเรียนมัธยมปลายไทคิว (Taikyu High School) อันมีประวัติต่อเนื่องยาวนานอยู่ในจังหวัดวาคายามะ
ในตอนนั้น เมื่อสถาบันวัคซีนในเอโดะ (Otamagaike) ถูกไฟไหม้ โกเรียวได้บริจาคเงินเป็นจำนวน 300 เรียว (Ryo : เป็นสกุลเงินในสมัยนั้น) เพื่อที่จะสร้างสถาบันดังกล่าวขึ้นมาใหม่ จากบันทึกของโกเรียว ฮามากุจิเขายังได้บริจาคเพิ่มอีก 400 เรียวเพื่อทำการซื้อหนังสือและอุปกรณ์ สถาบันวัคซีนจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันแห่งแพทย์แผนตะวันตกในเวลาต่อมา และกลายเป็นสถาบันที่มุ่งเน้นด้านการค้นคว้ารักษาด้วยแพทย์แผนตะวันตกเพียงอย่างเดียวในสมัยเอโดะ (ซึ่งคาดว่าสถาบันแห่งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในรากฐานของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียวในปัจจุบันอีกด้วย)
โกเรียวเป็นแบบอย่างของผู้ที่ทุ่มเทอย่างสุดตัวในการสนับสนุนสังคมและความก้าวหน้าทางด้านการศึกษาอบรมของบุคลากร
โกเรียวผู้ซึ่งเกิดในปลายยุคโชกุนโทคุกาวาผู้ทุ่มเทเพื่อความก้าวหน้าของญี่ปุ่น ถูกเชื้อเชิญให้เข้าสู่แวดวงทางการเมือง จากคุณสมบัติในการเฉลียวฉลาดอย่างยิ่งและความใจกว้างอย่างประมาณไม่ได้ของเขา รวมไปถึงการทำงานในฐานะนักธุรกิจ หรือการดำรงตำแหน่งกิเฮย์ ฮามากุจิ รุ่นที่ 7 นั่นเอง หลังจากได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของเขตวากายามะ (Wakayama) และเป็นประธานคนแรกของสภาเมืองวากายามะ เขาก็ถูกรับเชิญให้ไปทำงานกับรัฐบาลกลาง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคมนาคมและการไปรษณีย์ และมีผลงานทางด้านการพัฒนาคิดค้นระบบไปรษณีย์สมัยใหม่ นอกจากนั้น โกเรียวยังมีสายสัมพันธ์อย่างกว้างขวางกับผู้ทรงคุณวุฒิอย่างหลากหลาย เช่น ซาคุมะ โชซัง (Sakuma Shozan), คิคุฉิ ไคโซ (Kikuchi Kaiso), ฟุคุดะ เฮอิชิโระ (Fukuda Heishiro),คัทสึ ไคชู (Katsu Kaishu), และ ฟุคุซาวา ยูคิชิ (Fukuzawa Yukichi) ซึ่งหลังจากการเสียชีวิตของโกเรียว คัทสึ ไคชู ก็ได้อุทิศคำจารึกไว้ที่อนุเสาวรีย์ของเขาด้วย
ในยุคการปกครองของโกเรียว ซีอิ๊วถั่วเหลืองยามาซ่าได้รับการยกย่องจากรัฐบาลของโชกุน จากการผลิตซีอิ๊วถั่วเหลืองที่มีคุณภาพเยี่ยมยอดและได้รับรางวัล “ซีอิ๊วถั่วเหลืองยอดเยี่ยม” ในปี พ.ศ.2407 และเมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคแห่งอาหารตะวันตก กิเฮย์ ฮามากุจิ รุ่นที่ 8 (โกโช : Gosho) ก็ได้สร้างสรรค์ซอสที่ผลิตในประเทศเป็นอันดับ 1 ซอสมิคาโดะ (Mikado Sauce) ซึ่งก็เป็นผลสำเร็จที่เขาได้รับมาจากการมองการณ์ไกลของโกเรียว ที่เฝ้ามองและศึกษาโลกตะวันตกนั่นเอง
โกเรียวมีบทบาทในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งยวดจากยุคโชกุนสู่ยุคเมจิ เมื่อผู้บังคับการเรือ เพอร์รี่ (Commodore Perry) เดินทางมาถึงอุรากะโดยทางเรือและบังคับให้โชกุนเปิดท่าเรือเพื่อทำการค้าขายกับต่างชาติ ผู้บังคับการประกาศว่า “ดูสถานการณ์ของโลกสิว่าไปถึงไหนแล้ว ที่ไหน ๆ เขาก็เปิดประตูและไม่มีประเทศใดที่จะไม่ติดต่อกับภายนอกเลย” มีการบันทึกไว้ว่าในวันต่อมา โกเรียวได้ไปพบกับที่ปรึกษาอาวุโส โอกาซาวาระ อิคิโนคามิ (Ogasawara Ikinokami) ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ฟังคำกล่าวของผู้การเพอร์รี่ เขายังเป็นผู้ที่มีความรู้อย่างมากมายกว้างขวาง จนได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้เปรียบเสมือนปราชญ์จากจดหมายเขียนด้วยลายมือของฟุคุซาวะ ยูคิชิ (Fukuzawa Yukichi.CC)